บจธ. เดินหน้ารับโอนที่ดินเพื่อช่วยเหลือสมาชิก วสช.แก้วกล้า ท่ายาง จ.เพชรบุรี

สมาชิกวิสาหกิจชุมชนแก้วกล้า บ้านทุ่งโปง ต.กลัดหลวง อ.ท่ายาง จ.เพชรบุรี ผ่านความยากลำบากมาไม่น้อย จากเกษตรกรที่เคยเช่าที่นาปลูกข้าวในพื้นที่ จ.พระนครศรีอยุธยา และที่นาที่เช่าทำด้วยกันหลายครอบครัว ถูกเวนคืนเพื่อสร้างทางหลวงพิเศษมอเตอร์เวย์บางปะอิน – นครราชสีมา

วิมล ฝั่งทะเล ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนแก้วกล้า ตัดสินใจพาสมาชิกหนีความเดือดร้อนมาปลูกกล้วยหอมทองในพื้นที่ เพชรบุรีเพื่อส่งออกญี่ปุ่นเพราะมั่นใจว่ากล้วยหอมทองมีตลาดแน่นอน แต่ก็ต้องเผชิญปัญหาซ้ำหนักเข้าไปอีกเมื่อลงแรงกันไปแล้ว หลายเดือนไม่ได้ค่าแรง วิมล พาสมาชิกหาเช่าที่ดินทำกินและเปลี่ยนวิถีเกษตรเคมีเป็นเกษตรอินทรีย์จนกระทั่งได้ที่ดิน 5 ไร่ ด้วยการช่วยเหลือ จากผู้ใหญ่บ้านและกลุ่มวิสาหกิจเพื่อสังคมเดอะบาสเก็ต ทุกคนก็ยังมุ่งมั่นที่จะปลูกพืชสมุนไพร และผักปลอดสารพิษตามหลัก ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงรวมถึงเลี้ยงแพะ เลี้ยงไก่ ทำฟาร์มเห็ด และรวบรวมผลผลิตส่งขายให้เครือข่ายสมาชิกที่ให้การสนับสนุน ส่งเสริมผลผลิตเกษตรปลอดภัย แต่ด้วยคนในกลุ่มสมาชิกมีจำนวนมากส่วนหนึ่งก็เช่าที่ดินทำเกษตร จึงทำให้ปัญหาเรื่องที่ดิน ทำกินไม่เพียงพอยังคงเป็นปัญหาสำคัญ

เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2563 ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ บจธ. นำโดย นายกุลพัชร ภูมิใจอวด รองผู้อำนวยการ ปฏิบัติหน้าที่ ผู้อำนวยการสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน และพล.ต.อ. เฉลิมเกียรติ ศรีวรขาน คณะทำงานรองนายกรัฐมนตรี พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ ซึ่งปัจจุบันดำรงค์ตำแหน่งประธานคณะกรรมการ บจธ. รวมทั้ง รองผู้ว่าราชการจังหวัด และส่วนราชการในพื้นที่ ร่วมลงพื้นที่เพื่อติดตามผลการดำเนินงาน ของ บจธ. ที่ได้เข้าช่วยเหลือพี่น้องกลุ่มวิสาหกิจชุมชนวิสาหกิจชุมชนแก้วกล้า จังหวัด เพชรบุรี ที่ได้ยื่นประสงค์ขอความช่วยเหลือมายัง บจธ. เพื่อจัดซื้อที่ดินดังกล่าวให้แก่กลุ่มสมาชิกได้มีที่ดินในการประกอบอาชีพ เกษตรกรรม

ล่าสุดเมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2563 นายกุลพัชร ได้มอบหมาย และมอบอำนาจให้นายศรีชา ม่วงไข่ ผู้อำนวยการกองบริหารจัดการที่ดิน 2 และคณะจัดซื้อที่ดิน บจธ. เดินทางไปรับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินผืนดังกล่าว ในพื้นที่ 47 ไร่ จำนวนครัวเรือน 26 ครัวเรือน พร้อมลงนามทำสัญญาเช่า ในระยะแรก โดยสมาชิกเลือกที่จะทำเกษตรอินทรีย์ 100 % มีผัก ปลอดสารพิษหลายสิบชนิด และแบ่งพื้นที่ ไว้สำหรับเลี้ยงไก่ เลี้ยงปลา เลี้ยงแพะ ตามแนวทางศาสตร์พระราชาและปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อให้เกิด ความยั่งยืนและมั่นคงในชีวิตของสมาชิกและครอบครัวต่อไป