บจธ. เร่งยกร่างพระราชบัญญัติจัดตั้งฯ ขึ้นใหม่ให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของภาคประชาชน

เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2563  บจธ. ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญ และภาคประชาชน หลายภาคส่วน ได้ร่วมกันจัดประชุมคณะทำงานทบทวนและจัดทำร่างพระราชบัญญัติธนาคารที่ดินหรือองค์กรอื่นที่มีวัตถุประสงค์ในลักษณะทำนองเดียวกันกับธนาคารที่ดินครั้งที่ ๑/๒๕๖๓ เพื่อยกร่างพระราชบัญญัติขึ้นใหม่ให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ ฐานความคิด
และกรอบความคิดของภาคประชาชน พร้อมทั้งพิจารณาถึงข้อดี ข้อเสียของร่างกฎหมาย ให้มีเนื้อหาที่ทันต่อเหตุการณ์หรือปัญหาปัจจุบันของประเทศ และมีหลักการปกป้องและรักษาที่ดินของเกษตรกรตามร่างกฎหมายที่ภาคประชาชนได้เสนอไว้ อาทิเช่น ให้หน่วยงานที่จะจัดตั้งเป็นองค์กรอิสระ โดยมีภาคประชาชนอย่างแท้จริงเข้ามีส่วนร่วม ทั้งในส่วนของการคณะกรรมการต่างๆ และกระบวนการดำเนินงาน เช่น การจัดทำสัญญาเช่าซื้อที่ดิน ซึ่งการดำเนินการไม่ควรอยู่ภายใต้คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ หรือ คทช. /ให้รัฐบาลจัดสรรงบประมาณในการผลักดันและขับเคลื่อน บจธ. จากภาษีที่ดินในอัตราก้าวหน้า ภาษีสุราและยาสูบ เพื่อการจัดซื้อที่ดิน การช่วยเหลือที่ดินไม่ให้หลุดมือและที่เกี่ยวข้อง พร้อมทั้งจัดสรรงบประมาณในการว่าจ้างบุคลากรของหน่วยงาน เพื่อเป็นกลไกหลักของรัฐที่เข้าช่วยเหลือประชาชนในปัญหาเกี่ยวกับที่ดิน/ต้องคำนึงถึงสิทธิของบุคคลและสิทธิชุมชนตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๕๖๐ มาตรา ๔๓ โดยยึดหลักการกระจายการถือครองที่ดินที่มีเป้าหมายคือความสมดุลของระบบนิเวศน์ ด้านเศรษฐกิจ ด้านสังคม และด้านวัฒนธรรม

ในหมวดของโครงสร้างคณะกรรมการ : ควรปรับแก้ไขโครงสร้างคณะกรรมการของ บจธ. ให้มีสัดส่วนของภาคประชาชนมากขึ้น เพื่อให้ผู้ที่ประสบปัญหาที่ดินมีส่วนร่วมเข้าเป็นคณะกรรมการ คณะอนุกรรมการ หรือคณะทำงาน ในการแก้ไขปัญหาต่างๆ เกี่ยวกับที่ดิน ซึ่งมีความเข้าใจเจตนารมณ์แท้จริงของภาคประชาชน โดยเสนอให้มีภาคประชาชนประมาณ ๓ – ๔ คน หรือในสัดส่วนที่เท่าเทียมกัน โดยตัวแทนภาคประชาชนนั้นให้หมายความรวมถึงทุกภาคส่วนทั่วประเทศ เช่น กลุ่มชาติพันธุ์ เป็นต้น เพื่อให้มีการทบทวนและจัดทำร่างพระราชบัญญัติธนาคารที่ดินหรือองค์กรอื่นที่มีวัตถุประสงค์ในลักษณะทำนองเดียวกันกับธนาคารที่ดิน
โดยประกอบกับการให้ภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดกรอบแนวทางของร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวให้มีความครอบคลุมยิ่งขึ้น