ผลการประชุม วิป 3 ฝ่าย : ความคืบหน้าการเสนอกฎหมายธนาคารที่ดิน
………..เมื่อวันพุธ ที่ 8 มิถุนายน 2559 เวลา 10.00 น. ได้มีการประชุมคณะกรรมการประสานงาน รวม 3 ฝ่าย (คณะรัฐมนตรี สภานิติบัญญัติแห่งชาติ และสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ) ณ ห้องประชุม 301 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล เพื่อพิจารณาข้อเสนอแนะ รายงานของสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านเศรษฐกิจ เรื่อง ธนาคารที่ดินและร่างพระราชบัญญัติธนาคารที่ดิน พ.ศ. …. โดยมีหน่วยงานที่มาชี้แจง คือ (1) ผู้แทนคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านเศรษฐกิจ สภาการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (ดร. กอบศักดิ์ ภูตระกูล) (2) กระทรวงการคลัง (3) กระทรวงมหาดไทย (4) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (5) สถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน (องค์การมหาชน) และ (6) สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา
………..ภายหลังจากที่ประชุมได้รับฟังคำชี้แจงหลักการและตัวเลขจาก ดร. กอบศักดิ์ฯ ถึงการที่จะเป็นกลไกแก้ปัญหาที่ทำกินและที่ดินหลุดมือของเกษตรกร และฟังข้อสังเกตและความเห็นของผู้แทนหน่วยงานที่มาชี้แจงแล้ว ซึ่งก็ไม่ขัดข้องในหลักการ เห็นควรที่จะผลักดันร่างพระราชบัญญัติธนาคารที่ดิน พ.ศ. …. ต่อไป โดยจะประสานงานกับรองนายกรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องด้วย
………..นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้มีข้อสังเกตเกี่ยวกับเงินทุนการดำเนินการในระยะต้น และการที่จะดำเนินการธนาคารที่ดิน ต่อไปโดยประสบความสำเร็จ ไม่เป็นภาระต่องบประมาณของรัฐบาล หรือมีปัญหาเช่น สถาบันการเงินเฉพาะกิจบางแห่ง ที่น่าสนใจมีดังนี้
– เงินลงทุนของธนาคารที่ดินควรเพียงพอที่จะผลักดันโครงการได้ หรือต้องมี “mass momentum” ที่ เพียงพอและความมั่นคงที่จะ take off ในระยะเวลาตอนเริ่มต้นขึ้นบินได้
– การที่จะทำให้ไม่เป็นภาระทางการเงินต่อรัฐบาลนั้น จะต้องมีการ “เติมเงิน” ที่กระทำได้โดยธนาคารที่ดิน ซึ่งเป็นวิสาหกิจทางสังคม (social enterprise) นี้ อาจออก “social bond” ซึ่งก็น่าจะเป็นไปได้ที่จะมี
ผู้มาลงทุน เพราะในตลาดผู้ประกอบการก็มีนโยบาย CSR ตอบแทนสังคมอยู่แล้ว (โดยมีแรงจูงใจนอกจาก CSR แล้ว ยังมีส่วนลดทางภาษีได้)
– การวางแผนของธนาคารที่ดินต้องดำเนินการร่วมกับการผังเมืองและพัฒนาเมืองด้วย เพื่อประโยชน์ในการพัฒนาพื้นที่และพัฒนาเมือง เช่น การป้องกันปัญหาน้ำท่วม การปรับปรุงที่ดิน การทำ zoning และการใช้ประโยชน์ที่ดิน (land use)
– วิเคราะห์ถึงการใช้ที่ดินในอนาคต เนื่องจากการถือครองที่ดินอาจมีการเปลี่ยนแปลงได้ ในอนาคตอาจจำเป็นต้องลดพื้นที่การเกษตรลงพร้อมกับปรับปรุงเทคโนโลยีการผลิตทางเกษตร เนื่องจากการขยายตัวเมืองและการขยายตัวของพาณิชยกรรมและอุตสาหกรรม
สุดท้ายนี้ ที่ประชุมยังได้ฝากให้ บจธ. ทำการวิจัยแบบ “quick-quick”ว่า อะไรเป็นปัจจัยความสำเร็จของการดำเนินงาน อะไรที่จะทำให้ไม่สำเร็จ หรือวิจัยหา “success key” ด้วย.