“ดีใจที่ได้เห็นความก้าวหน้าของธนาคารที่ดิน ” ดวงมณี เลาวกุล

หนึ่งในคณะผู้ยกร่างพระราชกฤษฎีกาให้จัดตั้งสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน เมื่อ 12 ปีที่แล้ว  ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดวงมณี เลาวกุล อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้ความคิดเห็นและข้อเสนอแนะในการประชุมรับฟังความคิดเห็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2566  ตามโครงการประเมินความคุ้มค่าเพื่อพัฒนาองค์กรระยะที่ 1 ของสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน (องค์การมหาชน)  บจธ. ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2565 ที่ให้องค์การมหาชน 3 ประเภทต้องได้รับการประเมินความคุ้มค่า อย่างน้อยหนึ่งครั้งในทุก 3 ปี

“ดีใจที่ได้เห็นความก้าวหน้าของธนาคารที่ดินเป็นหนึ่งในคณะผู้ยกร่าง พรฎ.ให้จัดตั้งสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน เมื่อประมาณ 12 ปีที่แล้ว ”

” วันนี้ก็อยากให้พัฒนาการดำเนินงานต่างๆต่อไป แต่ก็เข้าใจว่าทาง บจธ. เองก็มีข้อจำกัดด้านงบประมาณหลายๆ อย่างซึ่งภาคประชาชนก็อาจจะต้องการให้ บจธ. ทำหน้าที่ในหลายมิติแต่ว่าก็จะมีงานหลักของทาง บจธ. ที่ต้องทำอยู่ ในส่วนเรื่องของงบประมาณตอนแรกที่มีการคิดเอาไว้ก็จะมีแหล่งที่มาจะเป็นภาษีที่ดิน แต่ว่าไม่ใช่ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างอันนี้เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเป็นขององค์กรบริหารส่วนท้องถิ่น  ”

” ภาษีที่มีการออกแบบเอาไว้เพื่อให้เป็นแหล่งรายได้หนึ่งของธนาคารที่ดินจริงๆ คือการเก็บภาษีที่ดินอัตราก้าวหน้าตามขนาดการถือครองที่ดินหรือว่าจะเป็นลักษณะเป็นแปลงรวมก็คือดูว่าใครที่ถือครองเยอะก็ต้องเสียภาษีตรงนี้เข้ามาให้เป็นแหล่งรายได้ของ บจธ.เพื่อที่ว่าจะได้เอาไปจัดการในเรื่องการกระจายการถือครองที่ดินให้กับประชาชนต่อไป แต่ว่าปัญหาก็คือปัจจุบันนี้ก็ยังไม่มีการผลักดันในส่วนนี้หรือไม่ ถ้ามีตรงส่วนนี้เกิดขึ้นมามันก็จะมีแหล่งรายได้ที่ไม่ต้องขอเงินงบประมาณในแต่ละปีว่าแต่ละปีจะได้งบประมาณเท่าไหร่ สามารถทำได้มากน้อยแค่ไหน เราก็พอจะมองเห็นภาพว่าแหล่งเงินทุนที่ บจธ. จะสามารถทำงานได้มีเท่าไหร่อย่างไร และก็สามารถวางแผนในการจัดการในแต่ละปีได้

” เมื่อมีภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างมีคนที่ถือครองที่ดินจำนวนหนึ่งที่ถือครองที่ดินไว้และไม่ได้ใช้ประโยชน์ และเป็นไปได้ว่าเป็นเกษตรจำแลงที่เอาที่ดินที่คิดว่าอยู่ในเมืองเอาไปทำเกษตรในลักษณะที่ไม่ได้เกิดประสิทธิภาพ ”

” ธนาคารที่ดินมีบทบาทสำคัญและสามารถที่จะเชื่อมระหว่างคนที่มีที่ดินแต่ไม่ทราบว่าจะเอาไปทำประโยชน์อะไรกับประชาชนที่ไม่มีที่ดินทำกินไม่มีที่อยู่อาศัย บจธ. สามารถ matching ตรงนี้ได้มันก็จะเป็นประโยชน์คือคนที่มีที่ดินและก็ไม่อยากเสียภาษีเป็นที่รกร้างว่างเปล่าซึ่งเสียภาษีสูงก็สามารถที่จะประหยัดภาษีตรงนี้ได้ ในอีกฝ่ายหนึ่งก็คือคนที่ไม่มีที่ดินทำกินก็สามารถที่ได้ประโยชน์ในการใช้ที่ดินตรงนี้อันนี้ บจธ. สามารถที่จะมีบทบาทสำคัญได้สามารถโชว์กฏหมายตรงนี้ของตัวเองในอีกด้านหนึ่งนอกเหนือจากการที่เราไปดูว่าจะต้องไปซื้อที่ดินตรงไหนให้กับเกษตรกรหรือคนที่ไม่มีที่ดินทำกินซึ่งต้องใช้งบประมาณกลาง ซึ่งจะมีข้อจำกัดอยู่และก็คงมีคิวอยู่จำนวนมาก ในเรื่องของการจัดสรรจะต้องมีหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนด้วยว่ากลุ่มไหนจะได้ไม่ได้อย่างไร ”

” ความก้าวหน้าของ บจธ.ก็ค่อนข้างเห็นไปในทิศทางที่ดีและการทำลักษณะครบวงจรก็จะทำให้คนที่เข้ามาที่เราจัดสรรที่ดินให้เข้าไปอยู่ในที่ดินของแต่ละแปลงเขาสามารถที่จะมีชีวิตอยู่รอดได้ ความยั่งยืนของชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนเป็นเรื่องที่สำคัญเพราะว่าถ้าจัดสรรที่ดินแล้วมันไม่มีกระบวนการอะไรที่เข้ามารองรับไม่ว่าจะเป็นเรื่องของสาธารณูปโภค สาธารณูปการ โครงสร้างขั้นพื้นฐานต่างๆ รวมทั้งการผลิตและตลาดไปไหนอย่างไร ถ้ามีไม่ถึงสุดทาง สุดท้ายแล้วก็จะทำให้ความเป็นอยู่ไม่ยั่งยืน ไม่สามารถที่จะเลี้ยงชีพต่อไปได้ แต่อันนี้เป็นทิศทางที่ดีของ บจธ. ที่เรามองได้แบบครบวงจร เป็นกำลังใจให้ในการทำงานต่อไป “