บจธ. ร่วมศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเกษตร สุราษฎร์ฯ หนุนสมาชิก วสช.รวมพลังสร้างอาชีพวัดประดู่ สร้างรายได้ให้ได้หลักหมื่น/เดือนจากพื้นที่ 3ไร่

 
            วันนี้ ( 1 พฤศจิกายน 2566 ) นายกุลพัชร ภูมิใจอวด ผู้อำนวยการสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน (องค์การมหาชน) หรือ บจธ. มอบหมายให้นางสาวดารินันท์ นันทวงค์ ผู้อำนวยการกองส่งเสริมพัฒนาชุมชนและเครือข่าย ( กสค.)  เจ้าหน้าที่ กสค.และเจ้าหน้าที่กองประชาสัมพันธ์และสื่อสารองค์กร จัดอบรมการวางแผนการผลิตผักสวนครัวเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนสมาชิกวิสาหกิจชุมชนรวมพลังสร้างอาชีพวัดประดู่ ต.ปากฉลุย อ.ท่าฉาง จ. สุราษฎร์ธานีให้มีความสามารถในการบริหารจัดการ ทั้งในด้านการพัฒนาศักยภาพสมาขิก การทำแผนการผลิตและการตลาด การออม ตลอดจนการบูรณาการร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ที่นำไปสู่การใช้ประโยชน์ที่ดินให้มีประสิทธิภาพ เกิดประสิทธิผล และความคุ้มค่าในหลายมิติ โดยมีนางสาวขวัญฤทัย ช่วยแก้ว  นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรชำนาญการ  และนางกชกร บุณยสุรักษ์ นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรปฏิบัติการ จากศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเกษตร จังหวัดสุราษฎร์ธานี กรมส่งเสริมการเกษตร และทีมงาน มาเป็นวิทยากรให้คำแนะนำและออกแบบการใช้ที่ดินขนาด 3 ไร่ ซึ่งมีเนื้อที่ใกล้เคียงกับที่สมาชิกใช้ประโยชน์ในปัจจุบัน
 
          นางสาวขวัญฤทัย ยกต้นแบบพื้นที่ที่ศูนย์ฯ ดำเนินการว่ามีการออกแบบการปลูกผักตัดยอดเช่นผักติ้ว มะม่วงหิมพานต์ ผักกูด มะกอก มะตูมไทย  ผักชมจันทร์ ในพื้นที่ 1 งาน ส่วนอีก 1 งานเป็นการปลูกผักบนแคร่ซึ่งจัดการง่าย วัชพืชน้อย สามารถทำแคร่เหล็ก แคร่ไม้ไผ่ หรือใส่กระถางปลูกก็ได้ เช่นผักสลัด เช่นกรีนโอ๊ค เรดโอ๊ค ที่มีราคาสูงกว่าผักทั่วไป ใช้เวลาน้อยเพียง 45 วันและหมุนเวียนปลูกไปเรื่อยๆ
 
       “ ในพื้นที่วิสาหกิจมีแหล่งน้ำธรรมชาติก็สามารถนำมาใช้ได้ ใช้ทำจุลินทรีย์สังเคราะห์แสงได้ ส่วนวัสดุปลูกก็มีปุ๋ยคอก ขุยมะพร้าว กาบมะพร้าวสับ แกลบดิบ หมักทิ้งไว้ 15 วันถึง 1 เดือน จะได้วัสดุปลูกที่ใช้ต่อเนื่องได้ 2-3 รุ่น พื้นที่ที่นี่ผักยกแคร่เป็นทางเลือกที่ดี “
 
        นอกจากนี้ยังสามารถใช้พื้นที่ในการปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ ที่ต้องไม่ใช้ดิน ส่วนพื้นที่ที่เหลือก็ปลูกมะนาวในวงบ่อซีเมนต์ ปลูกไผ่ชนิดต่างๆ ทั้งขายหน่อพันธุ์แบะหน่อบริโภคได้
 
       “ อีกส่วนหนึ่งคือการเพาะถั่วงอก และผักยกแคร่ที่เหมาะสมเช่นขายต้นกล้า ก็ได้ หรือจะปลูกคะน้า กวางตุ้ง ผักกาดก็ได้เช่นกัน ส่วนกระบวนการปลูกพืชทั้งหมดต้องเตรียมดิน เตรียมพืช เตรียมปุ๋ยหมัก ปุ๋ยอินทรีย์ ปุ๋ยเสริมซึ่งเป็นจุลินทรีย์สังเคราะห์แสง ทำให้ระบบรากพืชแข็งแรง โตเร็ว ถ้าเป็นผักกินใบ ใบก็จะกรอบหวาน “
          เธอสรุปว่าในเนื้อที่ 3 ไร่ ถ้าวางแผนการผลิตต่อเนื่องจะทำให้เกษตรกรมีรายได้สม่ำเสมอ แปลง 1 งานมีรายได้ 2,000 – 3,000 บาทต่อเดือนเลยทีเดียว
         ขณะที่นางกชกรได้แนะนำสมาชิกวิสาหกิจชุมชนรวมพลังสร้างอาชีพวัดประดู่เรื่องการปลูกสมุนไพรหลายชนิดเช่นขมิ้นชัน ขิง ข่า มะขามป้อม อัญชัน ไพล และกระชายในพื้นที่ว่างซึ่งสามารถใช้บริโภคในครัวเรือนและเป็นวัตถุดิบทำเครื่องแกงที่วิสาหกิจเลือกเป็นผลิตภัณฑ์เด่นได้เช่นกัน
        นอกจากนี้คณะวิทยากรยังสาธิตการทำน้ำยาล้างจานใช้เอง และมอบกล้าพันธุ์ไม้หลายชนิด เช่นมะพร้าว กล้วยน้ำว้า กล้วยหอม หน่อไม้ฝรั่ง ขมิ้นชัน และกระชาย ให้สมาชิกวิสาหกิจชุมชนรวมพลังสร้างอาชีพซึ่งมีจำนวน 22 ครัวเรือน ไปปลูกในแปลงที่ดินที่ได้รับการสนับสนุนจาก บจธ. เนื้อที่ 117 ไร่เศษอีกด้วย