ภาคประชาชนเรียกร้อง “ธนาคารที่ดิน” ร่วมแก้ปัญหา “ลูกหนี้” ชี้ช่วยได้จริง

วงสัมมนาเสริมความรู้ให้ข้าราชการ และเครือข่ายทำงานด้านช่วยเหลือประชาชนเพื่อนำไปใช้อำนวยความเป็นธรรมให้กับลูกหนี้ ประธานมูลนิธิสุภาวงศ์เสนาเพื่อการปฏิรูปสิทธิลูกหนี้ วอนรัฐบาล เพิ่มเงินให้กับธนาคารที่ดิน เพื่อขับเคลื่อนแก้ปัญหาหนี้ให้ลูกหนี้ ชี้ช่วยได้จริง

เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2567 เวลา 09.00 น. ณ สถาบันการสอบสวนคดีพิเศษ เขตหนองจอก กรุงเทพฯ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) จัดสัมมนาเพื่อพัฒนาการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างบูรณาการและยั่งยืน มี พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นประธานเปิด และมอบนโยบาย

พันตำรวจเอกทวี กล่าวว่า ตามที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ประกาศไว้ระหว่างการแถลงนโยบายของรัฐบาล เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2566 ว่า “การนำทุกข์ของประชาชนออกไป” คือ การแก้ไขปัญหาหนี้สิน หนี้ครัวเรือน รวมถึงหนี้เกษตรกรและหนี้ต่าง ๆ ที่ไม่ใช่หนี้สาธารณะ หนี้กองทุนให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา หรือ หนี้ กยศ. สิ่งที่ประกาศไว้นั้นได้ดำเนินการแล้ว เช่น การแก้หนี้นอกระบบโดยมอบหมายกระทรวงมหาดไทย ไปดำเนินการ ผ่านผู้ว่าราชการจังหวัด แต่หนี้อีกประมาณร้อยละ 90 เป็นหนี้สินในระบบ ปัจจุบันกรมบังคับคดี มีการบังคับใช้กฎหมายตั้งเรื่องไว้กว่า 3,000,000 คดี ทุนทรัพย์หลายหมื่นล้านบาท มีการยึดทรัพย์เตรียมขายทอดตลาดอีกกว่า 700,000 คดี ทั้งหมดนี้ คือ ทุกข์ของประชาชน

สำหรับ “หนี้ครัวเรือน“ คือทุกข์ของประชาชน รัฐบาลจึงให้ความสำคัญในการเร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาหนี้สินทั้งระบบให้กับประชาชนทุกกลุ่มอย่างเร่งด่วน กระทรวงยุติธรรม ได้มอบหมายให้กรมบังคับคดี จัดมหกรรมแก้หนี้ซึ่งได้รับความสนใจจากลูกหนี้เป็นจำนวนมากและสามารถแก้ไขปัญหาไปแล้วบางส่วน

ดังนั้น เพื่อเป็นการแก้ปัญหาที่ยั่งยืนจึงมอบให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ ศึกษาข้อกฏหมายเกี่ยวข้องเพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมได้รู้ถึงสิทธิของตนเอง

ในส่วนภูมิภาค กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กรมบังคับคดี และสำนักงานยุติธรรมจังหวัดทั่วประเทศ ร่วมหาวิธีการแนวทางในการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ หนี้ครัวเรือน หนี้ กยศ. ภายหลังจากการประกาศใช้พระราชบัญญัติกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2566 ซึ่งเป็นคุณต่อลูกหนี้เป็นอย่างมาก

ด้านคุณอาจิน จุ้งลก ประธานมูลนิธิสุภาวงศ์เสนาเพื่อการปฏิรูปสิทธิลูกหนี้ กล่าวว่า ขณะที่มูลนิธิฯ ทำโครงการร่วมกับเครือข่ายจังหวัดพัทลุง ตรัง นครศรีธรรมราช และสตูล ชื่อ “โครงการพิทักษ์รักษาสินทรัพย์สุดท้าย” ได้มีลูกหนี้รายหนึ่งชื่อ ”คุณน้อย“ ที่ได้รับความช่วยเหลือจากธนาคารที่ดิน

โดยเคส ”คุณน้อย“ เป็นเคสร้องเรียนผ่านยุติธรรมจังหวัดพัทลุง ว่าถูกจับ เนื่องจากว่าเป็นหนี้ธนาคารออมสิน ถูกยึดบ้านไปขายทอดตลาด ต่อมามีนายทุนมาซื้อบ้านแล้วฟ้องขับไล่ ไม่รู้จะไปทางไหน มูลนิธิฯ จึงขอความช่วยเหลือไปยังกองทุนหมุนเวียนแห่งหนึ่ง แต่ไม่สามารถให้กู้ได้ ต่อมามีคนแนะนำว่าให้ไปหาธนาคารที่ดิน กระทั่งหลังติดต่อไป 3-6 เดือนธนาคารที่ดิน ก็อนุมัติเงินกู้ซื้อบ้านคืน ทั้งยังอบรมความรู้เพื่อประกอบอาชีพให้

“จากกรณีนี้เห็นว่า น่าจะใช้กลไกของธนาคารที่ดิน ในการแก้หนี้ เพราะมีประโยชน์สูงสุด แล้วก็เข้าถึงแหล่งเงินได้เร็ว อยากให้รัฐบาล เพิ่มเงินให้กับธนาคารที่ดิน เพื่อจะได้ขับเคลื่อนแก้ปัญหาหนี้ให้ลูกหนี้ได้อย่างรวดเร็ว” คุณอาจิน กล่าว