เร่งดันธนาคารที่ดินเข้าครม.สกัดนายทุนฮุบที่/ชาติเสียปีละแสนล้านที่ไม่ใช้ประโยชน์

rice-field

บิ๊ก บจธ. เร่งดัน พ.ร.บ.ธนาคารที่ดินเข้าครม. เส้นตายไม่เกิน 8 มิ.ย. 59 เผยหากไม่ได้รับไฟเขียวต้องยุบสถาบันทิ้ง โอดเสียดาย ชี้รัฐบาลปกติทำไม่ได้ หวังลดความเหลื่อมล้ำ – สกัดนายทุนฮุบที่ดินตุนแลนด์แบงก์ ไม่ได้ทำธุรกิจจริงทำชาติเสียรายได้ปีละแสนล้าน  ด้านนักวิชาการเชียร์อุ้มคนจน คุ้มครองที่ดินเกษตร  วงในติงหวั่นซ้ำซ้อน

นายสถิตย์พงษ์ สุดชูเกียรติ ผู้อำนวยการสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน (องค์การมหาชน) (บจธ.)  ในสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ถึงที่มาของการจัดตั้ง บจธ. ว่า เมื่อ ปี 2554  ได้มีพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสถาบันขึ้น ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ฉบับกฤษฎีกา เล่มที่ 128 ตอนที่ 33 ก ลงวันที่ 10 พฤษภาคม 2554 แต่ให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 9 มิถุนายน 2554 โดยในมาตรา 30 ของพระราชกฤษฎาดังกล่าว กำหนดไว้ว่าเมื่อมีการจัดตั้งธนาคารที่ดินหรือองค์กรที่มีวัตถุประสงค์ในลักษณะเดียวกับธนาคารที่ดิน และหากพ้นกำหนดระยะเวลา 5 ปีนับตั้งแต่วันที่พระราชกฤษฎีกานี้มีผลใช้บังคับแม้จะมิได้มีการจัดตั้งธนาคารที่ดินหรือองค์กรอื่นตามที่ได้กล่าวมาก็ตาม ขอให้สถาบันยุบเลิก ซึ่งจะครบกำหนด 5  ปีในวันที่ 8 มิถุนายน 2559 ซึ่งเหลือเวลาประมาณ 7 เดือนที่จะจัดตั้งธนาคารที่ดินให้ประสบผลสำเร็จ

“นับจากพระราชกฤษฎีกาที่ตั้งสถาบันขึ้นมาผ่านมาจะร่วม 4 ปีแล้ว  เสีย ดายเวลา แล้วถ้าไม่ผ่านเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ตามที่กำหนดเวลาไว้ จะทำให้เสียโอกาส เพราะถ้า พ.ร.บ. ธนาคารที่ดินแจ้งเกิด จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำในสังคมและช่วยคนยากจนได้ เพราะงานไม่ได้ซ้ำซ้อนกับสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) เลย เนื่องจาก ส.ป.ก.จะต้องซื้อที่ดินในเขตปฏิรูปเท่านั้น แต่ บจธ.สามารถซื้อที่ดินเอกชนนอกเขตปฏิรูปได้ อีกทั้งจะเป็นหน่วยงานที่ให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ กับเกษตรกร คนยากจน ให้ไปซื้อที่ดินที่กำลังจะหลุดไปตกอยู่ในมือของนายทุน และที่สำคัญยังเป็นคนกลาง (โบรกเกอร์) ไปซื้อที่ดินที่รกร้าง ไม่ได้ทำประโยชน์ นำมาจัดสรรให้กับคนยากจนหรือเกษตรกรได้”

นายสถิตย์พงษ์ กล่าวว่า จากผลการศึกษาพบว่ามีที่ดินรัฐและเอกชนถูกทิ้งร้างไม่ได้รับการจัดการ หรือใช้ที่ดินผิดวัตถุประสงค์ โดยชี้ให้เห็นข้อมูลว่า ผู้ครอบครองที่ดินมากกว่า 200 ไร่ ใช้ประโยชน์ 71% ผู้ครอบครองที่ดินมากกว่า 1 หมื่นไร่ ใช้ประโยชน์ 30% และผู้ครอบครองที่ดินมากกว่า 5 หมื่นไร่ ใช้ประโยชน์เพียง 3% ซึ่งการกักตุนที่ดินโดยไม่ใช้ประโยชน์ ทำให้ประเทศสูญเสียรายได้ปีละกว่า 1 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นหนึ่งในภารกิจของธนาคารที่ดินจะเป็นกลไกดึงพื้นที่ที่ซื้อจากเอกชนแล้วนำมาจัดสรรให้กับเกษตรกรที่ยากจนต่อไป (ดูตารางประกอบ)

สำหรับเรื่องร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ธนาคารที่ดิน พ.ศ. .  ทาง ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญและสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ เห็นสอดคล้องกันว่า ธนาคารที่ดินถือเป็นความหวังของประชาชน เพราะยังมีเกษตรกร 13.5 ล้านคน เสี่ยงสูญเสียที่ดินและคนจนเมือง 9 ล้านคนไม่มีที่ดิน ดังนั้น ธนาคารจึงถือเป็นกลไกใหม่ในการปฏิรูปที่ดินครั้งใหญ่ของไทย  อยู่ระหว่างรอผลการพิจารณาของคณะรัฐมนตรี ปัจจุบันมีเงินงบประมาณที่ได้จัดสรรอยู่แล้วประมาณ 700 ล้านบาท สามารถขับเคลื่อนได้ทันที หากเป็นรัฐบาลปกติทำไม่ได้ ยุคนี้เหมาะที่สุดแล้ว

สอดคล้องกับผศ.อิทธิพล ศรีเสาวลักษณ์  อาจารย์คณะนิติศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และในฐานะประธานอนุกรรมการบูรณาการกฎหมายการบริหารจัดการที่ดิน ของคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) กล่าวว่า เห็นด้วยในหลักการจัดตั้งธนาคารที่ดิน เพราะภารกิจหลักที่สำคัญ คือการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ที่ที่ดินหลุดจำนอง โดยการให้สินเชื่อ หรือการช่วยในการเช่าซื้อ การบริหารจัดการที่ดินของรัฐ การบริหารจัดการที่ดินของเอกชนที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ และการจัดซื้อที่ดินเข้าธนาคารที่ดิน  นับว่าเป็นแนวทางเยียวยาการสูญเสียที่ดินจากหนี้สินการจำนำ การจำนอง และ การขายฝากกับสถาบันการเงิน  ให้คงอยู่กับเกษตรกรต่อไป

แหล่งข่าวจากสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ได้มีการประชุมเกี่ยวกับการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินของประเทศนั้น อาจจะมีความซ้ำซ้อนกับอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ